

พัทยา 2 ตั้งอยู่ที่บ้านหนองกุงเซิน ห่างจากอำเภอเมืองไปประมาณ 78 กิโลเมตร เป็นทะเลสาบขนาดประมาณ 20 ไร่ มักจะมีผู้คนท้องถิ่นมาพักผ่อนหย่อนใจ เพราะนอกจากจะมีทัศนียภาพที่งดงามโดยมีเทือกเขาภูพานคำตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลังแล้ว ยังได้นั่งรับประทานปลาน้ำจืดนานาชนิด (ที่หาได้จากทะเลสาบนี้เอง)บรรยากาศที่เย็นสบาย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทางน้ำให้เลือกเล่นมากมายเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อน

อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดขอนแก่น มีเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติน้ำพอง ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขา ถือเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำชีและลำน้ำพอง สำหรับนักท่องเที่ยวทางอุทยานฯ มีบ้านพักรับรอง และสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการอย่างครบครัน

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ครอบคลุมพื้นที่ป่าภูเก้า อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู และป่าภูพานคำ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ 322 ตารางกิโลเมตร สภาพื้นที่ปกคลุมด้วยป่าเต็งรังมีทิวทัศน์สวยงาม เหมาะแก่การเดินป่าและศึกษาร่องรอยก่อนประวัติศาสตร์ของชุมชนมนุษย์ในสมัยบ้านเชียง

อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เรียกตามชื่อของภูเขาเทือกหนึ่งทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติที่มีหน้าผาสูงชันคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มองดูเหมือนกับผ้าม่านผืนใหญ่ อยู่ในท้องที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางกิโลเมตร หรือ 218,750 ไร่ แต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด ปัจจุบันผลจากการทำสัมปทานป่าไม้ทำให้พื้นป่าและจำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1473/2532 ลงวันที่ 27 กันยายน 2532 มอบหมายให้ นายพนม พงษ์สุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 4 ให้สำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าดงลาน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และป่าภูเปือย อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และพื้นที่ป่าใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจพื้นที่พบว่า เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธารและมีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะถ้ำและน้ำตก

อุทยานแห่งชาติภูเวียง คำว่า “ภูเวียง” เป็นท้องที่อำเภอที่เก่าแก่ของจังหวัดขอนแก่นอำเภอหนึ่ง และยังเป็นชื่อเรียกของเทือกเขามีหลักฐานว่าป่าภูเวียงเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่มีอารยธรรมเมื่อหลายพันปีล่วงมาแล้ว มีการขุดพบกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้ โลหะสำริด พระนอนสมัยทวาราวดี รวมทั้งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำ (หลืบเงิน) บนเทือกเขาภูเวียง นอกจากนั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2519 มีการค้นพบรอยเท้าและซากกระดูกไดโนเสาร์ และสัตว์โลกดึกดำบรรพ์อายุเกือบ 200 ล้านปี ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยและเสด็จทอดพระเนตร เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2532 มีเนื้อที่ประมาณ 325 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 203,125 ไร่

น้ำตกตาดฟ้า เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยตาดฟ้า รอยต่อของอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ความสูงราว 30 เมตร ในฤดูฝน้ำจะไหลแรง มีสายน้ำที่ตกลดหลั่นเป็นม่านที่งดงาม ปัจจุบันการเดินทางสะดวกมีทางรถยนต์เข้าถึงแล้ว

ถ้ำค้างคาวภูผาม่าน เป็นถ้ำขนาดใหญอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติภูผาม่านภายในถ้ำมีค้างคาวปากย่นอาศัยอยู่หลายล้านตัว ในช่วงเย็นย่ำของทุกวัน ค้างคาวจะบินออกจากถ้ำไปหากินเป็นริ้วขบวนยาวนับสิบกิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถชมความาหัศจรรย์ น่าตื่นตาของฝูงค้างคาวนับล้านๆ ตัวได้ที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น


ถ้ำภูตาหลอ ตั้งอยุ่ที่บ้านวังสวาบ ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน เป็นถ้ำที่อยู่บนเนิน ภายในถ้ำอากาศเย็นสบาย ไม่มีค้างคาวและกลิ่นอับชื้น มีห้องโถงขนาดใหญ่ พื้นถ้ำเป็นดินเรียบ มีหินงอกหินนย้อยอยู่ในสภาพสมบูรณ์ หินบางก้อนมีลักษณะเป็นเกล็ดแวววาวคล้ายหนิเขี้ยวหนุมาน

ผานกเค้า เป็นภูเขาที่อยู่ตรงรอยต่อของอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอภูกระดึงจังหวัดเลย ผานกเค้า เป็นหน้าผาสูงชัน ลักษณะคล้ายนกเค้าแมว บริเวณใกล้หน้าผาเป็นถนนกว้างใหญ่ ตลอดสองข้างทางมีร้านอาหารหลากหลาย คอยให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละวันจะมีรถนำนักท่องเที่ยวแวะมารับประทานอาหารกันเนืองแน่น

ถ้ำลายมือ อยู่ที่บ้านดอนกอก อำเภอหนองเรือ กรมศิลปากรสำรวจในปี พ.ศ.2526 มีลักษณะเป็นเพิงหิน มีทางขึ้นที่สูงชัน ภาพเขียนเป็นลานเส้นสีแดง และภาพลายมือใช้สีแดงพ่นทับฝ่ามือลงบนหน้าผา กับภาพฝ่ามือสีแดงวางทับลงบนผนังหิน มีลักษณะใกล้เคียงกันกับถ้ำฝ่ามือแดง บ้านหินร่อง กิ่งอำเภอเวียงเก่า

ปราสาทเปือยน้อย ตั้งอยู่อำเภอเปือยน้อย เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน รูปแบบทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม พบว่าน่าจะอยู่ในยุคศิลปะขอมแบบบาปวนและแบบนครวัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 เพื่อใช้เป็นศาสนสถานประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู (ศาสนาพราหมณ์)

กู่ประภาชัย หรือ กู่บ้านนาคำน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านนาคำน้อย ตำบลบัวใหญ่ การเดินทาง ไปทางเดียวกับพระธาตุขามแก่น ตรงไปก่อนถึงสะพานข้ามคลองส่งน้ำจากลำน้ำพอง เลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบคลองส่งน้ำแล้วเลี้ยวขวาข้ามสะพานเข้าหมู่บ้านนาคำน้อย กู่จะอยู่ภายในวัดกู่บ้านนาคำน้อย หรือจะขับรถข้ามสะพานข้ามคลองส่งน้ำ ตรงไปตามถนนลาดยางประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะมีป้ายบอกทางให้เลี้ยวซ้ายผ่านหมู่บ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงกู่ประภาชัย กู่ประภาชัย คือกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะแผนผังอย่างเดียวกันกับโบราณสถานที่พบหลักฐานแสดงอโรคยาศาลหรือสถานพยาบาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณโปรดฯให้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1720-1780) คือประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นทางด้านหน้า ด้านขวามือเยื้องไปข้างหน้าเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า บรรณาลัย อาคารทั้งสองล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วโดยมีโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้าออกด้านหน้าหรือทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงที่มุมซ้ายมีสระน้ำ 1 สระทั้งหมดสร้างด้วยศิลาแลง โดยมีเสาประดับประตู ทับหลังเป็นหินทราย ปัจจุบันหักพังแต่ได้รับการดูแลรักษาจากทางวัดเป็นอย่างดี ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478

พระธาตุขามแก่น สร้างขึ้นประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ตั้งอยู่ในวัดเจติยภูมิ ตำบลบ้านขาม ตามประวัติโดยย่อกล่าวว่าโมริยกษัตริย์เจ้าเมืองโมรีย์ซึ่งเป็นเมืองอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา มีความประสงค์ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ไว้เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ๆ มาบรรจุพระธาตุพนม จึงโปรดให้พระอรหันต์และพระเถระเจ้าคณะรวม 9 องค์นำขบวนอัญเชิญพระอังคารมาในครั้งนี้ เมื่อผ่านมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่งซึ่งมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่น เนื่องจากเป็นเวลาพลบค่ำแล้วและบริเวณนี้ภูมิประเทศราบเรียบดีจึงหยุดคณะพักชั่วคราว รุ่งเช้าจึงเดินทางต่อไปถึงภูกำพร้าปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับและตั้งใจว่าจะนำพระอังคารธาตุกลับไปประดิษฐานไว้ที่บ้านเมืองของตน แต่เมื่อเดินทางผ่านดอนมะขามอีกครั้งปรากฏว่าแก่นมะขามที่ตายแล้วนั้นกลับยืนต้นแตกกิ่งก้านผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่น่าอัศจรรย์ คณะอัญเชิญพระอังคารธาตุจึงพร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบต้นมะขามนี้ พร้อมกับนำพระอังคารธาตุและพระพุทธรูปบรรจุไว้ในองค์พระธาตุและให้นามว่าพระธาตุขามแก่นมาจนทุกวันนี้ พระธาตุขามแก่นถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จะมีงานฉลองและนมัสการพระธาตุเป็นประจำ

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขอนแก่น และกรมทรัพยากรธรณี เพื่อศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้ด้านทรัพยากรธรณีสู่สาธารณชน เพื่อการอนุรักษ์ เพื่อประโยชน์ของสังคมและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป อาคารพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบริการ ได้แก่ ร้านขายของที่ระลึก ห้องอาหาร ห้องบรรยาย ส่วนวิชาการ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการ ห้องทำงาน ห้องสมุด และส่วนนิทรรศการ ได้แก่ ห้องจัดแสดงชั้นล่างและชั้นบน จัดแสดงนิทรรศการการกำเนิดโลก หิน แร่ ซากดึกดำบรรพ์ และหุ่นจำลองไดโนเสาร์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ภูเวียง กรมทรัพยากรธรณี โทร. 0 4343 8204-6

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น
เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่รวบรวม ได้จากอีสานตอนเหนือ จัดแสดงเรื่องราวอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ ศิลปวัตถุสมัยทวารวดี ลพบุรี ล้านช้าง ศิลปะพื้นบ้านอีสานและประวัติศาสาตร์บ้านเมืองขอนแก่น เปิดบริการให้เข้าชมทุกวัน

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดขอนแก่น
เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ที่ถนนมิตรภาพ ตำบลบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ ภายในเป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการต่างๆไว้มากมาย เช่น ห้องนิทรรศการโลกดึกดำบรรพ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของไดโนเสาร์และฟอสซิลด้วยระบบเสียง เป็นต้น เปิดให้บริการทุกวัน

วัดพระพุทธบาทภูพานคำ ตั้งบริเวณไหล่เขาภูพานคำ อำเภออุบลรัตน์ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองในมณฑป และ พระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่ หรือหลวงพ่อใหญ่ สูง 14 เมตร อยู่บนยอดเขา มีบันไดทางขึ้นจากลานวัดไปยังยอดเขาจำนวน 1,049 ขั้น หรือจะขับรถยนต์ขึ้นไปถึงยอดเขาก็ได้ บนยอดเขามองเห็นทัศนียภาพทะเลสาบเขื่อนอุบลรัตน์ได้สวยงาม การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับทางไปเขื่อนอุบลรัตน์ ก่อนถึงประตูทางเข้าบริเวณเขื่อนจะมีป้ายวัดอยู่ด้านซ้ายมือ หรือจะใช้ทางเข้าวัดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงพยาลอุบลรัตน์ก็ได้

วัดหนองแวง (พระมหาธาตุแก่นนคร) ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง ภายในวัดหนองแวงซึ่งเป็นพระอารามหลวง มีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้น ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานตากแห ภายในองค์พระธาตุมีอยู่ 9 ชั้น คือ (1) หอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุ (2) หอพัก (3) หอปริยัติ (4) หอปริยัติธรรม (5) หอพิพิธภัณฑ์ (6) หอพระอุปัชฌายาจารย์ (7) หอพระอรหันตสาวก (8) หอพระธรรม (9) หอพระพุทธ

วัดอุดมคงคาคีรีเขต ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านโคก เป็นวัดป่าของหลวงปู่ผางซึ่งเคยเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว แต่มีอนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิของหลวงปู่ผางอยู่ในบริเวณวัด วัดนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามีต้นไม้ป่าขึ้นอยู่ร่มรื่น เป็นวัดที่เน้นการปฏิบัติวิปัสสนา การเดินทาง ไปตามเส้นทางขอนแก่น-ชุมแพ (ทางหลวงหมายเลข 12) ประมาณ 14 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าเส้นทางสายบ้านทุ่ม-มัญจาคีรี (ทางหลวงหมายเลข 2062) อีกประมาณ 44 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าเส้นทางสายมัญจาคีรี-ชัยภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 229) ประมาณ 12 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าวัดอีก 12 กิโลเมตร


วัดมัฌิมวิทยาราม (วัดบ้านลาน) ตั้งอยู่ที่บ้านลาน ตำบลบ้านลาน อำเภอบ้านไผ่ สิมวัดบ้านลานสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2407 ภายในสิมเขียนภาพไว้บนผนังด้านหลังพระประธาน เป็นภาพพระพุทธรูป 2 องค์ ส่วนผนังภายนอกเขียนภาพเรื่องเวสสันดรชาดก โดยลำดับภาพเริ่มจากผนังด้านหน้าทิศตะวันออก ทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้รวม 9 ห้อง ภาพเริ่มจากกัณฑ์ทศพรถึงนครกัณฑ์ โดยเลือกภาพเป็นสื่แทนเรื่องราวแต่ละตอนให้เข้าใจง่าย และชัดเจน สีที่ใช้เป็นสีฝุ่นในวรรณะสีเย็น

วัดสนวนวารีพัฒนาราม ตั้งอยู่ที่บ้านหัวหนอง ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ สิมวัดสนวนวารีพัฒนารามสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2496 ภายในสิมเขียนภาพเรื่องเวสสันดรชาดก สินไซ ราหูอมจันทร์ นาค สิงห์ ส่วนด้านนอกเขียนภาพเรื่องสินไซ และนรกภูมิ หน้าต่างทำเป็นวงโค้ง 2 ชั้น เขียนลวดลายเครือเถาประดับอย่างสวยงามและไม่ซ้ำแบบกัน ผนังด้านนอกมีเสาติดผนังเขียนลายเครือเถา และลายพญานาคเกี่ยวพันกัน สีที่ใช้เป็นสีฝุ่นทั้งผนังภายในและภายนอก

วัดสระบัวแก้ว ตั้งอยู่ที่บ้านสระวังคูณ ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองสองห้อง สิมวัดสระบัวแก้วสร้างขึ้นราว ปีพ.ศ.2474 ภายในสิมเขียนภาพเริ่มจากผนังด้านหน้าเวียนไปทางซ้าย ส่วนด้านนอกเขียนภาพเรื่องพระลัก พระลาม การลำดับภาพเริ่มจากผนังด้านข้างองค์พระประธานเวียนมาทางด้านหน้า และจบที่ด้านหลังองค์พระประธานภาพเขียนของวัดนี้มีคุณค่าหลายๆด้าน อีกทั้งยังได้สอดแทรกประเพณีพื้นถิ่นต่างๆ ด้วยเช่น ประเพณีฮดสรง การทำคลอดโดยหมอตำแยผู้ชาย เป็นต้น สีที่ใช้เป็นสีน้ำมัน โดยรวมเป็นสีวรรณะร้อน คือ สีเหลืองและสีแสดทั้งผนังภายในและภายนอก

วัดป่าแสงอรุณ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดป่าแสงอรุณ ตำบลพระลับ ห่างจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่นประมาณ 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางขอนแก่น-กาฬสินธุ์ สิมอีสาน ได้เน้นถึงรูปแบบ ทรวดทรง ความมั่นคงสามารถคุ้มแดดคุ้มฝน ตลอดจนความวิจิตรงดงามของภาพเขียนฝาผนังลายผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น อันเป็นการปลูกฝังแนวความคิดสร้างสรรค์ที่ดีต่อไป อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดขอนแก่นตลอดไป

หมู่บ้านงูจงอาง
บ้านโคกสง่า ตำบลทรายมูล อำเภอน้ำพอง เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการจัดแสดงศิลปะการต่อสู้ระหว่างคนกับงู โดยพ่อใหญ่เคน ยงลา ผู้ซึ่งประกอบอาชีพหมอยา ได้เดินทางไปขายยาสมุนไพรตามหู่บ้านต่างๆ จึงคิดริเริ่มการแสดงงู เพื่อดึงดูดคนให้สนใจซื้อยาสมุนไพร การควบคุมงูต้องอาศัยความชำนาญ ความใกล้ชิดกับงู ภูมิปัญญาในการควบคุมเกิดจากการสังเกต และเรียนรู้พฤติกรรมของงู ผู้แสดงจะต้องรู้ธรรมชาติของงู รวมทั้งมีสติว่องไว
ปัจจุบันการแสดงงูจงอางบ้านโคกสง่าเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก ชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงงูจงอางไว้ใต้ถุนบ้านของตนเอง การจัดแสดงงูมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การชกมวยระหว่างคนกับงู ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง

หมู่บ้านเต่า
หมู่บ้านเต่าจะมีเต่าบกชนิดหนึ่ง (ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า "เต่าเพ็ก") ลักษณะกระดองจะมีสีเหลืองแก่ปนน้ำตาลอยู่เป็นจำนวนมาก บ้างก็จะอยู่บริเวณใต้ถุนบ้านเพื่อรออาหารจากชาวบ้าน บ้างก็เดินอยู่ตามถนนภายในหมู่บ้านซึ่งจะหาดูได้ไม่ยาก เมื่อเดินทางไปถึงจากขอนแก่นไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (ขอนแก่น-ชุมแพ) ประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 2062 ประมาณ 44 กิโลเมตร (ก่อนถึงอำเภอมัญจาคีรี 2 กิโลเมตร) ถึงบริเวณบ้านกอก ปากทางเข้าหมู่บ้านเต่าอยู่ด้านซ้าย จะสังเกตเห็นเป็นรูปเต่าจำลอง 2 ตัว วางอยู่บนแท่นหินสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดศรีสุมัง จากนั้น เลี้ยวซ้ายข้างวัดเข้าสู่เขตหมู่บ้านกอก ประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงหมู่บ้านเต่า ปัจจุบันมีบริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 7222 7859 , 08 9574 3480

โฮงมูนมัง
" โฮง คือหอเก็บสมบัติ " โฮงมูนเมืองขอนแก่น คือ หอเก็บสมบัติที่เก็บรวบรวมเรื่องราวอันเป็นที่มาของเมืองขอนแก่น ตั้งอยู่บริเวณบึงแก่นนคร อ.เมือง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตและเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น โดยแบ่งออกเป็น 5 โซน คือ (1) แนะนำเมืองขอนแก่น (2) ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่นและวัฒนธรรมชาวขอนแก่น (3) การตั้งเมือง (4) บ้านเมืองและวิถีชีวิตของชาวขอนแก่น (5) ขอนแก่นวันนี้

หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย
บ้านโนนอุดม และบ้านโนนสว่าง ตำบลนาหว้า อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านที่มีการเลี้ยงควายทั้งสองหมุ่บ้าน 149 ครัวเรือน ประมาณ 1,200 ตัว ทำให้มีรายได้จากการทำปุ๋ยชีวภาพจากมูลควายจำหน่าย และทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในไร่นา ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างรายได้แก่หมู่บ้าน

เขื่อนอุบลรัตน์
เนื่องจากสร้างข้ามแม่น้ำพองโดยปิดกั้นลำน้ำพองตรงบริเวณช่องเขาที่เป็นแนวต่อระหว่างเทือกเขาภูเก้าและภูพานคำ การก่อสร้างเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2509 มีประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้า การเกษตร การประมง การป้องกันอุทกภัย การคมนาคม ตลอดไปจนถึงเป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ภายในบริเวณมีร้านอาหารเรือนพานคำ บ้านพัก สนามกอล์ฟ และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เดินชมสวนพรรณไม้ในวรรณคดี สวนประติมากรรมไดโนเสาร์ วังมัจฉาและร้านอาหารตามสั่งภายในบริเวณเขื่อน เปิดทุกวัน เวลา 07.00-20.00 น. อีกด้วย นอกจากนี้ ที่ปลายสุดสันเขื่อนยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิริสัตตราช หรือ หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ทำการเขื่อนอุบลรัตน์ โทร. 0 4344 6231, 0 4322 4129 ต่อ 2864 หรือ กรุงเทพฯ โทร. 0 2436 6046-8

Credit : http://www.khonkaenpoc.com/khonkaen/tour_index.php

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น